สมุนไพรใกล้ตัว(แก้ไอ เจ็บคอ )

ถ้าไอเรื้อรังไม่หายสักที ก็อาจเกิดจากหลายสาเหตุ อาการไอก็มีทั้งไอแห้งและไอที่มีเสมหะ เราลองมาดูว่าโบร่ำโบราณใช้ยาสมุนไพรอะไรบ้างเป็นยาแก้ไอ ซึ่งจำแนกได้ 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ขิง กระเทียม ดีปลี

กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีสารสำคัญเป็นกรด คือ รสเปรี้ยว ตามสรรพคุณยาไทย รสเปรี้ยวบำรุง ธาตุน้ำ กัดเสมหะ ฟอกโลหิต ได้แก่ มะนาว มะขามป้อม

กลุ่มที่ 3 กลุ่มสมุนไพรอื่น ๆ ได้แก่ มะแว้งเครือ มะแว้งต้น เพกา มะเขือแจ้

1. มะนาว เป็นยาสมุนไพรครอบจักรวาลก็ว่าได้ มีสรรพคุณมากมาย และยังเป็นสมุนไพรที่หาง่าย แต่บางฤดูกาลก็มีราคาแพงสูงถึงลูกละ 10 บาท เมื่อมีอาการไอระคายคอมักได้รับคำแนะนำให้ฝานมะนาวเป็นชิ้นบาง ๆ หรือหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าชิ้นเล็ก ๆ จิ้มเกลือ อมทิ้งไว้สักครูแล้วเคี้ยวกลืน หรือใช้น้ำมะนาวผสมน้ำอุ่นผสมเกลือเล็กน้อยใช้จิบ ช่วยป้องกันไข้หวัดได้ด้วย หรือตำรับเก่าแก่ของมนุษย์ทั้งโลกใช้ คือใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้งจิบแก้ไอ

2. มะขามป้อม ใช้แก้ไอแห้ง ไม่มีเสมหะ มีอาการริมฝีปากแห้ง และรู้สึกร้อนในอกไอที่มาจากทรวงอกจนเจ็บชายโครง หรือไอมานานแล้วไม่หาย ใช้ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่มหรือจิบ หรือใช้ผลสดต้มกับน้ำตาลทรายแดง มะขามป้อมมีรสฝาดเปรี้ยว หลังจากกลืนลงคอไปแล้วจะมีรสหวานชุ่มชื่นคอมาก ขิง รักษาอาการไอและขับเสมหะ หรือมีเสลดติดที่หลอดลมมาก ๆ ขิงจะช่วยให้หลอดลมขยายขึ้น และขับของเหนียวข้นออกมาได้ง่าย ให้ใช้เหง้าขิงสดประมาณ 60 กรัม น้ำตาลทราย 30 กรัม ใส่น้ำ 3 แก้ว นำไปต้มให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบกินตอนอุ่น ๆ หรือใช้ฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ใช้รักษาอาการไอเรื้อรังให้เอาน้ำที่คั้นจากเหง้าสดประมาณ 1 ลิตร ผสมน้ำผึ้งประมาณ 500 กรัมเคี่ยวในกระทะทองเหลือง ทำจนน้ำระเหยไปหมดแล้วจึงเอามาปั้นเป็นเม็ดเท่าลูกพุทราจีนใช้อม

3. มะแว้งต้น/มะแว้งเครือ ปัจจุบันมะแว้งได้รับการพัฒนาจากองค์การเภสัชกรรมผลิตและจำหน่ายยาอมมะแว้ง สรรพคุณช่วยแก้ไอและชุ่มคอ แต่เราสามารถใช้ในรูปของอาหารและยาได้โดยใช้ผลสดตำกับน้ำพริกหรือใช้รับประทานเป็นผักเคียงกับน้ำพริกถือเป็นการใช้ในรูปแบบอาหารเป็นยาหรือใช้ผลมะแว้งเครือ/ต้นสด5-6ผลล้างให้สะอาดเคี้ยวอมไว้กลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมแล้วคายทิ้งหรือใช้ผลสด5-10 ผลโขลกพอแตกคั้นเอาแต่น้ำใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อยๆ เวลาไอ

4. กระเทียม ใช้กระเทียมและขิงสดอย่างละเท่ากัน ตำละเอียดละลายกับน้ำอ้อยสดคั้นน้ำจิบแก้ไอ ขับเสมหะ และทำให้เสมหะแห้ง หรือคั้นกระเทียมกับน้ำมะนาวเติมเกลือใช้จิบหรือกวาดคอก็ได้ กระเจี๊ยบแดง ใช้กลีบเลี้ยงดอกสดหรือแห้งประมาณ 1-2 กำมือ ต้มกับน้ำเติมน้ำตาลและเกลือใช้จิบบ่อย ๆ ช่วยให้ชุ่มชื่นคอ ดีปลี ใช้แก้อาการไอมีเสมหะ ควรใช้ดีปลีประมาณครึ่งผล ตำละเอียดเติมน้ำมะนาวและเกลือเล็กน้อย กวาดคอหรือจิบบ่อย ๆ

5. มะขาม ใช้กัดเสมหะ เอามะขามเปียก 3 กรัม จิ้มเกลือรับประทาน หรือนำมะขามเปียกมาต้มกับน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย จะได้ยาขับเสมหะที่มีรสกลมกล่อม ข้อควรระวัง มะขามเปียกมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป

6. มะเขือแจ้/มะเขือขื่น อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เพราะเรามักจะบริโภคมะเขือเปราะ มะเขือยาวมากกว่ามะเขือแจ้ เมื่อผลแก่จัดมีสีเหลืองนิยมทานกับน้ำพริก ก่อนเอามาทานจะเอามาแช่น้ำเกลือก่อนเพื่อให้กรอบและทานง่าย ถ้าไอเรื้อรังยาวนานหรือไอถึงขั้นปัสสาวะรดใช้ยาตัวนี้ โดยเอารากมาล้างให้สะอาดแช่น้ำฝนหรือน้ำต้มสุกใช้ดื่มวันแรกอาจดูเหมือนดื่มน้ำเปล่า แต่พอวันที่ 2-3 ตัวยาจะมีรสขมขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจลดปริมาณน้อยลง และจะช่วยให้อาการไอมานานนับเดือนนั้นหายเป็นปลิดทิ้ง

7. สับปะรด แก้ไอในอาการคอแห้ง คั้นเอาน้ำผสมเกลือเล็กน้อยจิบ หรือทานทั้งผลก็ได้สับปะรดมีรสเปรี้ยวอมหวาน ช่วยให้ชุ่มคอ ชะเอมเทศและอำมฤควาทีเป็นยาแก้ไอชั้นดีอีกตัวหนึ่ง ช่วยละลายเสมหะที่เป็นก้อน แก้เจ็บคอหรือใช้กวาดคอจะช่วยให้อาการไอและไข้หายไวขึ้น นอกจากนี้ยังได้ถูกบรรจุไว้ในตำรับยาสามัญประจำบ้านหลายตำรับ

และที่สำคัญคือตำรับยาแก้ไออำมฤควาทีที่ใช้ชะเอมเทศจำนวนมากกว่าตัวยาอื่นๆ ตัวยาประกอบด้วย รากไคร้เครือ โกฐพุงปลา เทียนขาว ลูกผักชีลา เนื้อลูกมะขามป้อมเนื้อลูกสมอพิเภก หนักสิ่งละ 7 ส่วน ชะเอมเทศหนัก 43 ส่วน นำส่วนผสมทั้งหมดบดเป็นผง เวลาใช้ให้ละลายน้ำมะนาวแทรกเกลือ ใช้จิบหรือกวาดคอแก้ไอขับเสมหะ อีกตำรับหนึ่งมีใบกะเพรา ใบเสนียด ใบคนทีเขมาและน้ำผึ้ง ให้เอายาแต่ละตัวมาตำให้แหลกแล้วบีบหรือคั้น และกรองด้วยผ้าขาวบางสะอาด เอาแต่น้ำมาอย่างละเท่า ๆ กัน แล้วผสมน้ำผึ้งในสัดส่วนน้ำคั้นสมุนไพรและน้ำผึ้งอย่างละเท่า ๆ กัน ผสมให้เข้ากันดีแล้วให้คนไข้จิบกินบ่อย ๆ ตำรับนี้ช่วยขับเสมหะที่เหนียวข้นตามหลอดลม